บุหรี่ไฟฟ้า ภัยไม่เงียบ

ฉบับวันที่: 23/12/2019
นักวิชาการ: รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.) และอาจารย์จากคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ

ข่าวเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ายังคงเป็นที่ถกเถียงและจับตามองอย่างต่อเนื่อง รายงานข่าวต้นเดือนธันวาคมพบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบรายแรกในไทยจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าชนิดที่มีส่วนผสมของกัญชา

รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.) และอาจารย์จากคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นต่อกรณีที่เกิดขึ้นว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมของบริษัทบุหรี่ที่ต้องการกำไร โดยการสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่แอบอ้างว่าไม่มีควัน และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

“บุหรี่ไฟฟ้าเป็นที่ถกเถียงกันมากเลย เขาอ้างว่า ไม่มีควัน ดังนั้นอันตรายน้อยกว่า แต่สิ่งที่ปรากฏคือมีคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าแล้วเกิดอาการปอดอักเสบจากไอระเหยในบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว ซึ่งปรากฏกว่าพอหยุดใช้ก็อาการดีขึ้น” อาจารย์จินตนากล่าว

มีรายงานว่าควันไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้า ประกอบด้วยฝุ่นขนาดเล็กกว่า พีเอ็ม 2.5 และมีสารเคมีอันตราย เช่น ฟอร์มาร์ลดีไฮด์ ไดอะซิทิล อโครลิน โลหะหนักที่เป็นพิษ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยระบุอันตรายที่เกิดกับผู้ใช้โดยเฉพาะวัยรุ่นและวัยทำงานที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพียงไม่กี่ปี เพราะติดใจในรูปลักษณ์ที่ทันสมัย ใช้งานสะดวก ปรุงแต่งกลิ่นและรสมากกว่า 200 ชนิด และเชื่อว่าสามารถปรับระดับปริมาณสารนิโคตินได้ตามต้องการ

เมื่อเปรียบเทียบกับเวลาในการสร้างองค์ความรู้เรื่องควันบุหรี่ทั่วไปว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้สูบและผู้ที่อยู่รอบข้าง ต้องใช้เวลานานกว่าสังคมไทยจะมีความเห็นตรงกันเรื่องอันตรายของควันบุหรี่ ดังนั้น การให้คนเข้าใจเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าก็ต้องสร้างการรับรู้ถึงอันตรายแฝงก็ต้องอาศัยเวลาในการรณรงค์เช่นกัน

“ขณะนี้เรายังตกเป็นเหยื่อธุรกิจยาสูบกันอยู่ มีปรากฏการณ์บริษัทซื้อนักวิชาการเพื่อสร้างหลักฐานอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป และถ้าคนเชื่อว่าจริงก็จะไม่เกิดการหาข้อมูลเชิงลบหรือผลเสียของบุหรี่ไฟฟ้า ความจริงก็จะไม่ปรากฏ” อาจารย์จินตนากล่าว

ทางออกคือการเลิกสูบแต่ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงเป็นความท้าทายสำหรับศูนย์เลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ ซึ่งมีประสบการณ์การให้คำแนะนำและช่วยเหลือแก่ประชาชนคนไทยตั้งแต่ปี 2552 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพแห่งชาติ (สสส.) ตามข้อตกลงร่วมกันของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่ามาตรการการช่วยเลิกบุหรี่ ประเทศภาคีของอนุสัญญา การควบคุมยาสูบ (FCTC) ควรจัดให้มีบริการช่วยเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ และเป็นบริการฟรีโดยโทรเข้าหมายเลข 1600

“งานวิจัยและข้อมูลหลักฐานที่น่าเชื่อถือยืนยันว่าแนวทางการบำบัดโรคเสพติดบุหรี่มีอยู่ 2 ทาง คือการใช้ยาเลิกบุหรี่ ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยกำลังผลักดันให้ยาเลิกบุหรี่ได้เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพราะทุกวันนี้คนไทยยังเข้าไม่ถึง นอกจากคนป่วย ผู้เสพติดบุหรี่ที่ยังไม่มีปัญหาสุขภาพต้องมีค่าใช้จ่ายหากต้องการใช้ยาเลิกบุหรี่ ส่วนการบำบัดอีกแนวทางหนึ่งคือการไม่ใช้ยา ครอบคลุม วิธีการทางพฤติกรรมบำบัด คือวิธีการให้คำปรึกษาแบบหลายครั้ง ส่วนวิธีการบำบัดทางเลือกต่างๆ อยู่ในระหว่างการพัฒนา”

การเลิกบุหรี่สามารถเลิกได้สำเร็จ ต้องมี สามใจ คือ ตั้งใจ มั่นใจ และกำลังใจ “เมื่อมีผู้โทรเข้ามารับบริการจึงเริ่มต้นด้วยคุณต้องการเลิกบุหรี่ใช่ไหม เพื่อตรวจสอบว่าผู้โทรเข้ามาเป็นผู้ติดบุหรี่ หรือเป็นผู้ใกล้ชิด เพื่อนของผู้สูบบุหรี่ เมื่อยืนยันว่าเป็นผู้สูบบุหรี่จึงให้คำปรึกษาแบบสั้นเพื่อสร้างความตั้งใจเลิกก่อนจะเข้าสู่กระบวนการบำบัดด้วยการให้คำปรึกษาแบบเข้มข้น เพื่อการลงมือหักดิบอย่างมั่นใจ”

การให้คำปรึกษาแบบเข้มข้นจะใช้เวลา 10 – 20 นาที โดยจะเป็นการสนทนา เพื่อประเมินภาวะติดบุหรี่ ประสบการณ์การติดนิโคตินการติดบุหรี่ทางจิตใจ และทางสังคม รวมถึงการเลิกบุหรี่ในอดีต ที่สำคัญคือการให้คำปรึกษาเพื่อสร้างแรงจูงใจ เพิ่มพูนความตั้งใจและการค้นหาวิธีการใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันของผู้สูบแต่ละคน ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถเผชิญกับอาการขาดนิโคตินและความอยากบุหรี่หลังวันที่ลงมือหักดิบ หรือเลิกแบบทิ้งบุหรี่ทันที

“หลังจากนั้นจึงเป็นการโทรกลับให้คำปรึกษา อีก 6 ครั้งในเวลา 1 ปี ตามข้อตกลงร่วมกัน ผู้ให้คำปรึกษาจะโทรติดตามให้กำลังใจโดยจะมีการบันทึกข้อมูลในระบบฐานข้อมูล ครั้งแรกที่จะโทรไปติดตามให้คำปรึกษาเพื่อสร้างกำลังใจ คือภายในสัปดาห์แรก และสัปดาห์ที่สองหลังการหยุดบุหรี่ทั้งหมด เพราะช่วงนี้จะเป็นช่วงสำคัญที่สุดผู้ที่เลิกบุหรี่แบบที่ไม่มีผู้ช่วยเหลือใดๆ มักจะล้มเหลวกลับไปสูบบุหรี่ใหม่ในช่วงนี้ หลังจากนั้นการโทรติดตามหลังวันเลิกเป็นระยะ”

นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับภาคีที่เป็นเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อช่วยผู้ที่มีความตั้งใจอยากเลิกบุหรี่ และช่วยให้เข้าถึงการบำบัดการเลิกบุหรี่ผ่านคำปรึกษาทางโทรศัพท์ได้มากขึ้น

“ยาสูบทั้งบุหรี่ซอง บุหรี่มวนเอง และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทุกรูปแบบเป็นธุรกิจที่บริษัทยาสูบลงทุนเพื่อหากำไร และขณะนี้การรับรู้ความจริงเกี่ยวกับอันตรายของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังไม่แพร่หลาย อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในวันนี้จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจว่าการครอบครองอุปกรณ์และการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย การร่วมกันหาวิธีช่วยให้ผู้สูบบุหรี่และผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เริ่มคิด/ตั้งใจเลิกบุหรี่ และเข้าถึงกระบวนการบำบัด เพื่อการเลิกบุหรี่ให้สำเร็จจึงเป็นเรื่องสำคัญ” อาจารย์จินตนาสรุป