กิจกรรมการตรวจเชิงรุก โดยใช้ชุดตรวจ COVID-19 scan

โรค COVID-19 เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของโลกในระดับ global pandemic ปัจจุบันมีผู้ป่วยติดเชื้อและ เสียชีวิตจำนวนมาก สร้างความตื่นตระหนกและมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล ในการนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดโครงการ Testing Tracing and Telemedicine for COVID-19 cases สำหรับการตรวจคัดกรองเชิงรุก และตรวจติดตามผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตลอดจนการให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนสำหรับ home isolation ในเขตชุมชนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในส่วนของการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับความอนุเคราะห์ให้ใช้รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ (รถพระราชทาน) ในการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสจากตัวอย่างน้ำลายด้วยวิธี real-time PCR (สำหรับผู้มีความเสี่ยงต่ำ ไม่มีอาการ) และ COVID-19 SCAN (สำหรับผู้สูงอายุ ผู้เปราะบางเสี่ยงเจ็บป่วยรุนแรง ผู้มีความเสี่ยงสูง หรือมีอาการต้องสงสัย) ในการนี้คณาจารย์ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ (รศ.ดร.สัญชัย พยุงภร; อ.ดร.นพัต จันทรวิสูตร และ อ.ดร.พรชัย แก้วทรัพย์ศักดิ์) ในฐานะผู้พัฒนาชุดตรวจ “COVID-19 SCAN” พร้อมด้วยนักวิจัยในหน่วยปฏิบัติการวิจัยจุลชีววิทยาเชิงระบบ (น.ส.ภัทรพร นิ่มเสมอ; น.ส.อรพรรณ มยุรมาศ; น.ส.สุวนันท์ มั่นคง และน.ส.นันทินี ชมตา) และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านชีววิทยาเชิงระบบ (ดร.พิริยะ วงศ์คงคาเทพ; น.ส.รุ่งนภา บุตรศรี และนายอิสรา อาลี) จึงร่วมปฏิบัติงานจิตอาสาในการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19

ทั้งนี้โครงการฯ ดังกล่าว ได้เริ่มดำเนินการในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 โดยมีรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ (รถพระราชทาน) อยู่ที่บริเวณหน้าอาคารจันทนยิ่งยง  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินการตรวจน้ำลายของบุคลากร เช่น แม่บ้าน รปภ. และพนักงานร้านค้า ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลการตรวจพบว่ามีบุลคลากรส่วนหนึ่งติดเชื้อโควิด-19 จึงได้ประสานแจ้งหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อตรวจยืนยันผล และดำเนินการกัดกันโรคต่อไป โดยสรุปโครงการตรวจคัดกรองเชิงรุกดังกล่าว เป็นการส่งเสริมการตรวจคัดกรองในชุมชน เพื่อให้มีการควบคุมการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว